วัดวังหลุม(วัดราษฎร์เจริญ)
วัดราษฎร์เจริญ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2475 ตั้งอยู่เลขที่ 9 หมู่ 9 ต.วังหลุม อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ก่อนที่จะเกิดเป็นวัดขึ้น เนื่องจากประชาชนชาวสระบุรี ได้อพยพมาทำมาหากินที่บ้านวังหลุม เพราะจังหวัดสระบุรีหาที่ทำกินยาก จึงอพยพมาอยู่ที่ตำบลวังหลุมกันเป็นจำนวนมาก
เริ่มก่อสร้างวัด
ตามวิสัยของคนไทยเมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มแล้ว มักจะคิดเรื่องทำบุญอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อตั้งบ้านเรือนอยู่กันอย่างมั่นคงแล้ว จึงพร้อมใจกันที่จะสร้างวัดขึ้น เพื่อที่จะได้ไว้ประกอบพิธีการตามประเพณีของชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน จากหลวงพ่อทับ บริบูรณ์ จำนวนเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 28 ตารางวา กรมศาสนาอนุญาตให้สร้างวัด โดยใช้ชื่อว่า วัดราษฎร์เจริญ เมื่อเดือนมีนาคม 2475 โดยมีพระอธิการขำ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก บริหารกิจการสงฆ์ภายในวัดจนถึง พ.ศ.2477 ท่านจึงลาสิกขา ต่อจากนั้นพระอธิการสังวาลย์ สัวโร เป็นเจ้าอาวาสและได้มีการสร้างหอสวดมนต์ขึ้นหนึ่งหลัง กว้าง 28 เมตร ยาว 36 เมตร จนถึง พ.ศ.2480 พระอธิการสังวาล สัวโร ได้ลาสิกขาไป ต่อไปก็มีพระอธิการถนอม ซึ่งเป็นพระที่จำพรรษาอยู่ในวัดขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ได้มีการรื้อกุฏิหลังเก่าที่ทรุดโทรมและสร้างขึ้นใหม่ เป็นกุฏิทรงไทย กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร พร้อมกันนั้นได้มีการเปิดสอนปริยัติธรรม จนถึงปี พ.ศ2483 พระอธิการถนอมได้ลาสิกขาไป ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปนิมนต์พระอธิการบุญมา ปญญาธิโกนามสกุล ทองมูล ซึ่งจำพรรษาที่วัดป่าเรไร ต.ทับคล้อ อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร ให้มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสไม่นานก็ได้เป็นเจ้าคณะตำบล หนองพะยอมอีกตำแหน่ง ท่านเป็นพระเถระที่มีอายุพรรษาพอสมควร มีความรู้ความชำนาญในการบริหารงาน ด้านการก่อสร้างและการศึกษาเป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2490 พระอธิการบุญมา ปญญาธิโก ท่านมีความคิดอย่างไรไม่ทราบ ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครรูปเดียวโดยไม่ปรึกษาใครเลย พร้อมด้วยน้ำผึ้งป่า 1 ปี๊บ เมื่อเข้าไปถึงก็เข้าไปเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงค์ (หม่อมหลวงชื่น นพวงค์ สุจิตโต) ที่พระตำหนักเพชรวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรมหาวิหาร โดยไม่ผ่านบุคคลอื่นเลย เมื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ และถวายน้ำผึ้งแล้ว ก็ทูลขอตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ และทรงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า สามารถ พร้อมรับตราตั้งอุบัชฌาย์จากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า แล้วเดินทางกลับวัดราษฏร์เจริญ ผู้ที่เคารพนับถือจึงเรียกท่านว่า อุบัชฌาย์สามารถ มีคนมาให้หลวงพ่อสามารถบวชให้มากมายแต่วัดราษฎร์เจริญยังไม่มีอุโบสถ หลวงพ่อจึงต้องอาศัยไปบวชที่อุโบสถวัดอื่น จนในปี พ.ศ.2490 หลวงพ่อสามารถ จึงดำเนินการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา